วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รักคนใกล้ตัวดีที่สุด

ครอบครัวเป็นสถาบันเล็กที่สุด แต่กลับสำคัญอย่างยิ่ง อันหมายถึงความรัก ความอบอุ่น ความเป็นอันเดียวกัน การมีครอบครัวที่อบอุ่นทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ฝ่าฝันกับปัญหาอุปสรรค สามารถสร้างสรรค์ให้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นได้มากมาย เพราะสายใยความรัก ความผูกพัน คือสิ่งสำคัญของคำว่า “ครอบครัว” 
    เมื่อเร็วนี้ๆ ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เชิญชวนทุกครอบครัวมาร่วมกิจกรรม “สุข สนทนา” ฟังธรรมะสาระดีเรื่อง “ครอบครัว คือ หัวใจแห่งการเยียวยา” โดยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
    การสนทนาในวันนั้นพูดคุยถึงเรื่องสถาบันครอบครัวเป็นดังหัวใจแห่งการเยียวยา เพราะความรัก ความเข้าใจ การดูแลซึ่งกันและกันจากคนในครอบครัว นำมาซึ่งปาฏิหาริย์ที่ทำให้ก้าวพ้นอุปสรรคและพบความสุขที่แท้จริงผ่านเวทีเสาวนาที่มีผู้สนใจเข้าร่วมมากมาย       
บ้านมักจะเป็นสถานที่ปลอดภัยเสมอใช่หรือไม่ 
เวลาทำงานมาเหนื่อยๆ แล้วเรากลับบ้านก็จะช่วยให้หายเหนื่อย เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันสร้างบ้าน บ้านจะปลอดภัยถ้าใจของคนในบ้านไม่ขุ่นมัว สำนักงานจะปลอดภัยถ้าใจของคนในสำนักงานไม่ขุ่นมัว งานจะศักดิ์สิทธิ์ถ้าจิตไม่ขุ่นมัว สสส.จะเกิดการสร้างเสริมสุขภาวะถ้าคนทำงานที่นี่มีจิตวิญญาณ  
ในบางครั้งเราอาจเริ่มต้นด้วยความรัก แต่ลงท้ายด้วยความเกลียดชัง สังเกตหรือไม่ว่าความรัก ความเกลียดชัง ความทุกข์ มันจะเกิดหรือดับก็ขึ้นอยู่ที่ใจของเราเท่านั้นเอง อยู่ที่เราจะคิดอย่างไร แล้วปฏิบัติอย่างไร เหมือนกับตอนที่เรากลับมาคิดที่บ้าน ถ้าเรามองคนในบ้านอย่างเปิดใจกว้างกว่าปกติ ให้เขาก็เป็นอย่างที่เขาเป็น แต่ขอแค่ใจของเราเป็นสุขแค่นั้นก็ปลอดภัย แต่การที่เราไปบังคับให้คนทุกคนในบ้านเป็นอย่างใจเรา เราก็ต้องทนเก็บความอึดอัดเอาไว้ เพราะใจคิดแต่ว่าอยากให้เป็นอย่างที่ต้องการ แล้ววันหนึ่งลูกระเบิดที่เก็บสะสมไว้จะระเบิดขึ้นมา เราก็ช้ำ เขาก็ช้ำ  
ระหว่างรู้ว่ามีอารมณ์กับรู้แล้วไม่อยากให้มีอารมณ์ คิดว่าสิ่งไหนปลอดภัยกว่ากัน
คนส่วนใหญ่มักตอบรู้ว่ามีอารมณ์ปลอดภัยกว่า เพราะการที่เรารู้ว่ากำลังมีอารมณ์จะดีกว่าการที่รู้แล้วไม่อยากให้มีอารมณ์ เพราะพวกที่ไม่อยากให้มีอารมณ์จะเป็นประเภทเก็บกดก็ว่าได้ แต่การที่ได้รับรู้แล้วว่ามีอารมณ์ก็จะเป็นแค่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป  
เคยรู้สึกไหมว่าลูกมีความลับ 
หากลูกเคยมีความลับ พ่อแม่ต้องใส่ใจการเยียวยาให้เต็มที่ถ้ารู้ว่าลูกไม่พูดความจริงกับเรา แล้วหากถามเด็กที่มีความลับนั้นผิดไหม คำตอบคือไม่ผิดหรอกที่ลูกจะมีความลับ บางเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่อยากรับฟัง เด็กก็ไม่อยากจะบอก ถ้าเราอยู่ใกล้กับคนที่เรารักแล้วลองสังเกตคนที่รักบ้าง ว่าเขากำลังต้องการอะไรหรือไม่ หากไม่สังเกตเราอาจจะสูญเสียเขาไปก็ได้ ทั้งที่เราก็รักเขา แต่เรายังขาดความสังเกต ฉะนั้นต้องมีลมหายใจ มีสติ ก็แค่เฝ้าสังเกตกายและใจของเรา อย่าคิดถึงอดีตบ้าง อนาคตบ้าง อย่าไปฟุ้งซ่าน ถ้าไม่สังเกตกายภาพ เราจะรู้สึกว่าขาดพลัง หรือไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงนั้นก็ตาม
เป็นเรื่องอาภัพที่สุดไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่มีทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย สิ่งที่ปลอดภัยที่สุดเลยก็คือเราต้องมีการเฝ้าสังเกต สังเกตตัวเองให้มีสติ รู้ทันกาย รู้ทันใจ รู้ทันเขา ไม่ย้ำคิด ไม่ฉุกคิด แล้วเขาจะมีความคิดอย่างสมบูรณ์ คิดเป็นมโนกรรม มีมโนธรรม หากเด็กมีมโนธรรมที่สุจริต กายธรรม วจีกรรม ก็จะสุจริตไปด้วย แต่ถ้าเราไม่ศรัทธาในกฎแห่งกรรม ก็เตรียมตัวตายทั้งเป็นเลย แล้วเราจะเยียวยาอย่างไร
นำไปสู่ซึ่งคำถามที่ว่า “คุณคิดว่าบ้านปลอดภัยหรือเปล่า” ถ้าเราไม่สังเกตว่าคนที่เรารักมีความลับแล้วขาดความสังเกต ควรสร้างความมั่นใจแก่ครอบครัว ไม่ว่าลูกจะทำถูกหรือทำผิด เด็กจะรู้ว่าเราจะเข้าใจที่เขาเปิดเผยความจริง และถ้าเขาไว้ใจเราพูดความจริง เราจะรู้ว่าปาฏิหาริย์แห่งรักและความเข้าใจมีอยู่จริง 
การสร้างครอบครัว 
การสร้างครอบครัว คือการสร้างเพื่อน ถ้าพ่อแม่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์กันได้ ลูกจะมีใจที่มั่นคง เริ่มจากการที่สามีภรรยาต้องสร้างใจตัวเองให้มีตัวเองเป็นเพื่อนได้ เมตตาตัวเองเป็น เราก็จะเป็นเพื่อนกับคนข้างหน้าเราได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจมากขึ้น การกระทบแล้วกระเทือนในครอบครัวก็จะลดลง เมตตาตัวเองเป็น หมายถึง เมื่อเราโกรธ เศร้า เบื่อ เครียด อารมณ์ลบเหล่านี้ทำร้ายตัวเองทั้งสิ้น พ่อแม่ที่มีมาตรฐานสูง นอกจากจะเอาผิดเอาถูกกับคนอื่นแล้ว ยังเอาผิดเอาถูกกับตัวเอง คาดหวังสูง เช่น อยากเป็นคนดี เวลาโกรธก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี พาลโกรธตัวเองที่โกรธ กลายเป็นโกรธซ้อนโกรธ
ถ้าพ่อแม่มีการสื่อสารที่ไม่ระวัง เพราะมัวเอาชนะ ประชดประชัน เหน็บแนม กระแทกกระทั้น ลูกจะมีแต่ความระแวงสงสัยในชีวิต ว่าโลกนี้น่าอยู่จริงหรือ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการสื่อสารที่มีความมุ่งร้ายและเบียดเบียนกัน วัฒนธรรมที่ควรสร้างให้เกิดขึ้นในครอบครัวคือ การพูด คิด ทำอะไรโดยใช้ปัญญา เพื่อนำพาออกจากปัญหาอย่างไม่มีความมุ่งร้ายและเบียดเบียนกัน พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ในบ้านได้ ถ้าพ่อแม่สร้างกระแสอริยะให้เกิดได้จริงในบ้าน เพียงการถือศีล 5 บริสุทธิ์ มีสมาธิและปัญญาพอประมาณ ราคะ โทสะ โมหะเบาบางลง ทำได้จริงในขณะที่ครองเรือน
ผู้นำในครอบครัว บทบาทผู้สร้างความอบอุ่นในครอบครัว
    ทุกครอบครัวต่างก็มีผู้นำในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่ความเป็นผู้นำไม่ควรถูกจำกัดให้อยู่กับคนใดคนหนึ่ง เช่น พ่อแม่ไม่ควรเป็นผู้นำคนเดียว เพราะหากครอบครัวต้องตกอยู่ในภาวะความตึงเครียด ผู้เป็นพ่อและแม่ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และร่วมกันเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ช่วยกันเยียวยา ดังนั้น หากต้องการมีครอบครัวที่อบอุ่น สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวจะต้องมีบทบาทความเป็นผู้นำในวาระที่แตกต่างกันออก ไป เช่น แม่จะเป็นผู้นำและเป็น ผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลครอบครัวและการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องอาหารการกินในบ้าน ส่วนพ่อจะเป็นผู้นำในเรื่องที่สำคัญ เช่น เรื่องภายนอกบ้านและสมาชิกในบ้านควรมีส่วนในการสนับสนุนความคิดของผู้นำในครอบครัว
ดังนั้นการสร้างความรักและความอบอุ่นในครอบครัวจะเป็นเสมือนภูมิคุ้มกัน เป็นดังหัวใจแห่งการเยียวยา นำมาซึ่งปาฏิหาริย์ที่ทำให้ก้าวพ้นอุปสรรคและพบความสุข ให้ครอบครัวหลีกหนีและห่างไกลจากความรุนแรง และจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการสร้างความมั่นคงกับสังคม เพราะความรัก ความเข้าใจจากคนในครอบครัว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น