วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ยอมรับคุณค่าในตนเองและผู้อื่น


ยอมรับคุณค่าในตนเองและผู้อื่น
คุณค่าของตัวเอง

       นับจากนี้ออกไปอีกเพียงไม่กี่วันก็จะเข้าสู่วันที่หลายครอบครัว ต้องพบกับความสุขในวันขึ้นปีใหม่ไทย ซึ่งเชื่อว่า สมาชิกแต่ละคน ย่อมต้องมีแผนที่จะเปลี่ยนตัวเอง เพื่อรับกับความสุขตลอดช่วงปีเสือกันไม่มากก็น้อย และแน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนปรารถนาคือ อยากมีชีวิตรัก และครอบครัวที่มีสุขอย่างยั่งยืน
      
       เพื่อสร้างสุขให้ชีวิตรัก-ครอบครัวอย่างยั่งยืนนั้นก่อนอื่นต้องรู้จักกับคำว่าความสุขกันก่อนกับเรื่องนี้'นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัยจิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ บอกว่า ความสุขมี 2 ประเภท คือ ความสุขทางกาย และทางใจ โดยความสุขทางกาย ส่วนใหญ่จะเป็นการเสพสุขเพื่อตอบสนองความต้องการทางกาย และทางประสาทสัมผัสต่างๆ ซึ่งเป็นความสุขส่วนบุคคล เกิดขึ้นได้ไม่นาน เมื่อไม่มีสิ่งเร้าเป็นตัวกระตุ้น เช่น การลิ้มรสอาหาร ดูหนัง ฟังเพลง หรือการมีเพศสัมพันธ์
      
       ส่วนความสุขทางใจ เช่น การมีทรัพย์สมบัติ มีอำนาจ มีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคม ส่วนใหญ่เป็นความสุขที่ต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกจึงจะมีความสุขได้ แต่เนื่องจากปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน จึงหาความยั่งยืนได้ยาก
      
       ดังนั้น ความสุขทางใจที่ยั่งยืน จิตแพทย์แนะว่า ควรจะเป็นความสุขจากภายในที่ไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากนัก แต่เป็นความรู้สึกมีคุณค่า มั่นใจในคุณค่าของตนเองจากภายใน ทำให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข เหมือนกับคนที่พิการไม่มีแขน ไม่มีขา หน้าตาไม่ได้สวย แต่ก็ไม่ได้คิดอยากตาย เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองมีค่า สามารถทำมาหากินเลี้ยงตัวเองด้วยการพึ่งตนเอง โดยใช้ปากคาบพู่กันวาดรูปขาย โดยการสร้างสรรค์ และทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง และผู้อื่นได้
      
       ต่างกับผู้มีความมั่นใจในคุณค่าตัวเองน้อย บางรายนอกจากพยายามตะเกียกตะกายเรื่องวัตถุแล้ว ยังใช้วิธีที่จะทำให้ตัวเองอยู่ได้ หรือรู้สึกมั่นใจขึ้นโดยวิธีการมองคนอื่นว่า ก็ไม่ได้ดีเด่นกว่าตัวเองเท่าไร ซึ่งคอยจ้องมองหาข้อเสียของคนอื่นมากกว่าจะมองหาข้อดี เพื่อความสบายใจของตัวเองว่า ฉันก็โอเค ไม่ได้แย่เท่าไหร่’ วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่สร้างสรรค์ และมักจะสร้างปัญหาในบ้าน หรือนอกบ้านในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ง่าย เช่น การขัดแย้ง หรือทะเลาะเบาะแว้ง
      
       อย่างไรก็ดีการเห็นคุณค่าในตนเองรู้สึกดีต่อตนเองไม่ใช่เรื่องง่ายค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร เนื่องจากคนหนึ่งคนมีบทบาทหลายด้านสวมหมวกหลายใบ และต้องการที่จะให้ดีไปทุกๆ ด้าน ตั้งแต่เป็นลูกที่ดี พี่ที่ดี น้องที่ดี พ่อที่ดี แม่ที่ดี ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายายที่ดี หรือเป็นหลานที่ดี

       แต่ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดในแต่ละคนโดยเฉพาะเรื่องเวลา การจะทำให้ดีเต็มร้อยในทุกบทบาทโดยไม่มีข้อตำหนิหรือบกพร่องเลยแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ดังนั้นแต่ละคนอาจจะต้องมากำหนดเป้าหมายของตัวเองเป็นเป้าหมายที่เป็นจริง มีความเป็นไปได้ จัดลำดับความสำคัญ และจัดสรรเวลาให้เหมาะสมเพื่อตัวเองจะได้ทำได้สำเร็จตามเป้าในระดับที่คิดไว้ และไม่รู้สึกผิด ไม่รู้สึกบกพร่อง หรือเป็นคนไม่ดี
      
       กระนั้น ความสามารถมองเห็นคุณค่าในตนเอง และยอมรับตนเองจะมาก หรือน้อย จิตแพทย์บอกว่า ขึ้นอยู่กับครอบครัว คนที่เติบโตมาในบรรยากาศครอบครัวที่ดี ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงครอบครัวที่ฐานะดี แต่หมายถึงครอบครัวที่บรรยากาศอบอุ่นเข้าใจกัน เอาใจใส่ความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัว ให้เกียรติกันให้ความสำคัญของกันและกัน ทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อตนเอง มั่นใจ (ในระดับจิตใต้สำนึก) ว่า ฉันมีค่า ฉันใช้ได้ ฉันมีข้อดี ฉันมั่นใจว่าฉันสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของฉัน” ก็ถือว่าโชคดี มีโอกาสมีความสุขในชีวิตได้ดี
      
       เมื่อ มองเห็น และยอมรับคุณค่าในตนเองได้ก็ไม่ต้องคอยเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา สามารถมองโลกแง่บวกได้ง่าย โกรธยาก แค้นยาก ให้อภัยง่าย มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันได้ง่าย จึงมีความสุขในชีวิตทั้งชีวิตรัก และชีวิตครอบครัวได้ง่าย
      
       แต่สำหรับคนที่ครอบครัวเตรียมต้นทุนด้านจิตใจมาให้น้อย ก็มีโอกาสเกิดปัญหามากกว่า แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะความสามารถในการมองเห็นค่า และยอมรับตนเองเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ แต่การพัฒนาตอนโต อาจจะยากกว่าช่วงวัยเด็ก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้ถ้าพยายาม และเมื่อทำได้สำเร็จก็ถือว่าคุ้ม เพราะจะช่วยให้ชีวิตสมาชิกในบ้านคนนั้นทุกข์น้อยลง มีความสุขง่ายขึ้น เกิดเป็นความดีส่งผลถึงคนรอบข้าง เพราะคนทุกคนเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน คนที่มีความสุขก็จะส่งผลให้คนที่อยู่รอบข้างมีความสุข อารมณ์ดีนั่นเอง
      
       ดังนั้นใครที่อยากมีความสุขที่ยั่งยืน จิตแพทย์แนะนำว่า ควรที่จะเริ่มจากการหาเวลาในแต่ละวัน แล้วแต่สะดวกสัก 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง ให้เวลากับตนเองในการฝึกผ่อนคลาย ทำสมาธิ โยคะ หรืออะไรก็แล้วเพื่อเป็นการพักสมองผ่อนคลาย และฝึกสติทบทวนพิจารณาตนเองพิจารณาอารมณ์และวิธีคิดของตนเอง มีจุดใดที่สมควรปรับปรุงหรือไม่ ถ้าปฏิบัติ และศึกษาหาความรู้เพื่อเติมเป็นมุมมองชีวิตให้กว้างขึ้นเป็นประจำ ก็คงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี สามารถช่วยให้เกิดความสุขทางใจที่เกิดจากภายในที่มีความยั่งยืนได้ไม่ยากนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น